ในธุรกิจร้านอาหาร คุณอาจต้องรับมือหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ทั้งคุณภาพอาหาร บริการลูกค้า การจัดการพนักงาน แต่สิ่งสำคัญที่เจ้าของร้านไม่ควรมองข้ามคือ “จุดคุ้มทุน” (Break-Even Point) เพราะจุดคุ้มทุนเปรียบเสมือนเข็มทิศทางการเงิน ที่ช่วยให้คุณรู้ว่าร้านกำลังได้กำไร ขาดทุน หรือเพิ่งแค่พอจ่ายต้นทุนเท่านั้น
จุดคุ้มทุนคืออะไร?
จุดคุ้มทุน คือจุดที่รายได้รวมของร้านอาหารเท่ากับต้นทุนรวม กล่าวคือยังไม่มีกำไรหรือขาดทุน แต่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้พอดี โดยต้นทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่:
- ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs): เช่น ค่าเช่า เงินเดือน ค่าประกัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามยอดขาย
- ต้นทุนผันแปร (Variable Costs): เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำไฟ ค่าแพ็คเกจจิ้ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามจำนวนลูกค้า
เมื่อยอดขายของคุณครอบคลุมต้นทุนทั้งสองประเภทได้ครบ นั่นคือคุณเข้าสู่จุดคุ้มทุนแล้ว

ทำไมเจ้าของร้านอาหารต้องรู้จุดคุ้มทุน?
- วางแผนการเงินได้แม่นยำขึ้น: คุณจะรู้ว่าต้องขายเท่าไรถึงจะไม่ขาดทุน เหมาะมากกับการตั้งเป้ายอดขายหรือเปิดตัวเมนูใหม่
ตัวอย่าง: หากร้านอาหารของคุณคำนวณแล้วพบว่า ต้องขายอาหาร 300 จานต่อเดือนถึงจะถึงจุดคุ้มทุน เมื่อคุณรู้จุดคุ้มทุนแล้ว คุณสามารถตั้งเป้ายอดขายประจำเดือนให้สูงขึ้น เช่น ตั้งเป้าขาย 350 จานเพื่อให้มีกำไร และสามารถวางแผนการตลาดหรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น การลดราคาในช่วงเทศกาล เพื่อดึงดูดลูกค้าหรือเพิ่มยอดขายให้เกินจุดคุ้มทุน
2. วิเคราะห์กลยุทธ์การตั้งราคา: หากจุดคุ้มทุนสูง อาจหมายถึงราคาขายต่ำเกินไป คุณสามารถพิจารณาปรับราคา หรือลดต้นทุนได้ทันที
ตัวอย่าง: ถ้าร้านคุณคำนวณจุดคุ้มทุนแล้วพบไม่พอครอบคลุมต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ การเพิ่มราคาหรือการเพิ่มเมนูใหม่ที่ให้กำไรมากขึ้น เช่น เพิ่มเมนูพิเศษในช่วงเทศกาล ก็สามารถช่วยให้ร้านทำกำไรได้ตามที่ต้องการ
3. ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้ชัดเจนขึ้น: เช่น จะขยายสาขา หรือเพิ่มรายการอาหารดีไหม ถ้ายอดขายยังไม่เกินจุดคุ้มทุน อาจต้องรอเวลา
ตัวอย่าง: หากร้านของคุณทำยอดขายได้เพียงแค่พอถึงจุดคุ้มทุนและยังไม่มีกำไร คุณอาจต้องระงับแผนขยายสาขาใหม่ไปก่อน เพราะการขยายในช่วงนี้อาจเสี่ยงทำให้ธุรกิจไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้ ควรตั้งเป้าหมายให้ยอดขายในสาขาปัจจุบันเกินจุดคุ้มทุนเสียก่อนเพื่อความมั่นคง
4. ควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น: หากไม่ถึงจุดคุ้มทุน แปลว่าค่าใช้จ่ายอาจมากเกินไป คุณจะได้หาวิธีลดต้นทุน เช่น ลดของเสีย หรือเจรจากับซัพพลายเออร์
ตัวอย่าง: หากร้านของคุณยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนและต้นทุนดูเหมือนจะสูงเกินไป คุณอาจต้องทบทวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ เช่น ลดการสั่งวัตถุดิบที่ใช้ไม่หมดทุกวัน หรือเจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อลดราคาวัตถุดิบที่สำคัญ เพื่อช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและทำให้ร้านเข้าถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น

วิธีคำนวณจุดคุ้มทุนสำหรับร้านอาหาร
สูตรคำนวณ:
จุดคุ้มทุน (หน่วย) = ต้นทุนคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)
อธิบาย:
- ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่า, เงินเดือน, อุปกรณ์ในครัว
- ราคาขายต่อหน่วย คือราคาขายอาหารต่อหนึ่งจาน
- ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย คือค่าวัตถุดิบ, แพ็คเกจ, น้ำไฟต่อหนึ่งจาน
วิเคราะห์จากจุดคุ้มทุนได้อย่างไร?
- ตั้งเป้ายอดขายที่ชัดเจน: คุณจะรู้ว่าต้องขายอาหารกี่จานต่อเดือนถึงจะคุ้มทุน ขายได้มากกว่านี้คือกำไร ขายน้อยกว่านี้คือขาดทุน
- ดูอัตรากำไร (Profit Margin): หากยอดขายเพียงแค่แตะจุดคุ้มทุน แสดงว่ากำไรน้อย ควรเพิ่มยอดขายหรือลดต้นทุนเพื่อทำกำไรให้ชัดเจน
- ควบคุมต้นทุนได้แม่นยำขึ้น: จุดคุ้มทุนสูงเกินไปอาจบอกว่าต้นทุนสูงเกิน จำเป็นต้องรีวิวทั้งค่าใช้จ่ายคงที่และผันแปร
- ตรวจสอบความยั่งยืนของธุรกิจ: ถ้าจุดคุ้มทุนสูงเกินกว่าที่จะขายได้จริงในตลาด นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณต้องปรับโมเดลธุรกิจทันที

ตัวอย่างการคำนวณจุดคุ้มทุน
สมมติว่า:
- ต้นทุนคงที่ต่อเดือน = 40,000 บาท
- ราคาขายต่อจาน = 250 บาท
- ต้นทุนผันแปรต่อจาน = 100 บาท
ใช้สูตร:
จุดคุ้มทุน = 40,000 / (250 – 100) = 267 จานต่อเดือน
ดังนั้นคุณต้องขายอย่างน้อย 267 จานต่อเดือนถึงจะคุ้มทุน หากขายได้ 300 จานขึ้นไปจึงเริ่มมีกำไร หากขายได้เพียง 200 จาน แปลว่ากำลังขาดทุน
บริหารการเงินอย่างมืออาชีพด้วย Break-Even Analysis
กำไรเฉลี่ยของร้านอาหารอยู่เพียงประมาณ 3–6% เท่านั้น หากไม่บริหารต้นทุนอย่างจริงจัง โอกาสขาดทุนก็สูงมาก การคำนวณจุดคุ้มทุนเป็นสิ่งที่ร้านอาหารควรทำเป็นประจำ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนธุรกิจอย่างแม่นยำ
การรู้จุดคุ้มทุนจะช่วยให้คุณควบคุมต้นทุน วางราคาขาย วางแผนการเติบโต และตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
👉 พร้อมบริหารต้นทุนอย่างมืออาชีพ? ทดลองใช้งาน Food Market Hub ฟรี